เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ได้แก่ ความตายและความเกิดนั้น พระอรหันตขีณาสพ ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
คำว่า ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร อธิบายว่า
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย
อะไรว่า "เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น
เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือว่า เป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส"
ภิกษุนั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ภิกษุพึง
หวั่นไหวด้วยเหตุอะไรตามคติเล่าว่า "เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน
เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา
เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่" ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหว
คือ สั่นเทา กระสับกระส่ายด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้น
ไม่มี รวมความว่า ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร
คำว่า หรือพึงชอบใจในอะไร อธิบายว่า หรือว่า พึงชอบใจในอะไร คือ
พึงชอบใจในวัตถุอะไร ได้แก่ พึงชอบใจ รักใคร่ พอใจในวัตถุนั้นอย่างไร รวมความว่า
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ-
ภาคจึงตรัสว่า
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร
[138] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :377 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เพราะสมณะพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม อธิบายว่า สมณ-
พราหมณ์บางพวก กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา
มรรคใด อย่างนี้ว่า "ธรรมนี้ เยี่ยม คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด" รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
คำว่า แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งกลับกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ ทิฏฐิ
ปฏิปทา มรรคนั้นนั่นเอง อย่างนี้ว่า "ธรรมนี้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย" รวมความว่า แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้น
นั่นเองว่า เลว
คำว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ อธิบายว่า
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหน จริง คือ แท้ แท้จริง เป็นจริง แน่นอน
ไม่วิปริต รวมความว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
คำว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวกต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคน
ฉลาด อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
คือ กล่าวอ้างว่าเป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล
อ้างว่ามีคุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวม
ความว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวกต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :378 }